อยากได้แว่นตาชัด..ชัด อ่านตรงนี้
เรามักได้ยินหลายท่านบ่นให้ฟังว่า แว่นตาตัดมาแล้วใส่ไม่ได้ มองไม่ชัด หรือชัดเกินไปใส่แล้วงง แบบนี้แล้วจะทำอย่างไรดี ทราบกันมั้ยคะว่า การที่จะได้แว่นตาชัดๆสักอัน ขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่างเลยทีเดียว มาดูกันนะคะ
อย่างแรก ขึ้นกับ ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาเอง ถ้าท่านมีสุขภาพร่างกายปกติ แข็งแรงดี โอกาสที่จะได้แว่นตาชัดๆก็มีมากกว่าผู้ที่เป็นโรคทางกาย เช่น เบาหวาน ซึ่งจะมีค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย ( เปลี่ยนตามระดับน้ำตาลในเลือด) ดังนั้นคนกลุ่มนี้มักจะบ่นว่าแว่นเพิ่งตัดมาได้ ไม่ทันไรทำไมมัวอีกแล้ว หรือ ท่านที่เป็นโรคความดันสูงมากๆ มาเป็นระยะเวลานาน จอประสาทตาจะเกิดการขาดเลือด ส่งผลให้ตามัว (ซึ่งแก้ด้วยแว่นตา ก็ไม่ชัด) ดังนั้นเราต้องหมั่นใส่ใจสุขภาพกายไปด้วยพร้อมกัน
นอกจากนี้ ความผิดปกติทางสายตาที่แตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อระดับความชัด และความมึนงงเมื่อเริ่มใส่แว่นแตกต่างกันด้วย ดังเช่นท่านที่มีสายตาเอียงมาก ในแกนองศาแนวเฉียง(oblique) ท่านจะปรับตัวกับแว่นตัวใหม่ค่อนข้างยากกว่าผู้อื่น เพราะการรับรู้ภาพจะเปลี่ยนไป ที่เรามักได้ยินกันบ่อยก็คือ “เห็นพื้นเอียง ด้านใดด้านหนึ่ง หรือพื้นใกล้ตัวลึกต่ำลงไปหรือสูงขึ้น” อย่างไรก็ตามภาวะนี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน (ขึ้นกับปริมาณของสายตาเอียง) หลังจากนี้ สมองจะปรับตัวได้เอง และเราก็จะเห็นพื้นเรียบเป็นปกติ แต่บางร้านอาจแก้ไขสายตาให้ท่านในปริมาณน้อยๆก่อนเพื่อให้ท่านปรับตัวได้ในระยะแรก จะได้ไม่งง แต่ก็ทำให้ระดับความชัดลดลง ( เป็นที่มาของการบ่นว่าแว่นยังมัว..)
แต่ปัญหาที่สำคัญที่มักพบบ่อยมักเกิดขึ้นในขณะตรวจวัดสายตา ซึ่งผู้ตรวจต้องการข้อมูลย้อนกลับ (feedback) ที่สะท้อนถึงการรับรู้ของท่าน แต่ผู้ที่มี ปัญหาด้านสายตาบางท่านอาจไม่เข้าใจคำถาม หรือไม่แน่ใจในคำตอบว่าเห็นชัดหรือไม่ หรือ เปรียบเทียบผลไม่ได้หรือไม่มีสมาธิในการทดสอบซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อการประเมินเพื่อตัดสินใจจ่ายค่าสายตาที่เหมาะสมเพื่อให้ท่านได้แว่นที่คมชัดและสบายตา ดังนั้นหากเกิดการผิดพลาด ณ ขั้นตอนนี้จะส่งผลให้แว่น ที่ได้มานั้น “ชัดแต่มึนงง หรือไม่ชัด” นั่นเอง ดังนั้นขณะทำการตรวจวัดต้องมีสมาธิในการทดสอบด้วยนะคะ
สาเหตุความไม่ชัดประการที่สองมาจาก ผู้วัดสายตา จากการจดบันทึกข้อมูลผิดพลาด หรือข้ามขั้นตอนการทดสอบบางขั้นตอนไป โดยเฉพาะการประเมิน ภาวะการเพ่งและการคลายกล้ามเนื้อตา(โดยใช้เลนส์แว่นตา) ซึ่งมักจะทำในการวัดสายตาในเด็กวัยเรียนหรือผู้ที่ใช้สายตาระยะใกล้มากๆ หรือผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ มากกว่า 2-3ชม.ต่อวัน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักมีอาการเพ่งค้าง จากการที่กล้ามเนื้อตาเกิดการเกร็งซึ่งหากใช้วิธีการวัดโดยใช้คอมพิวเตอร์อย่างเดียวผลที่ได้มักเกิดการ ผิดพลาด (ค่าสายตาจะปรากฏผลออกมาเป็นสายตาสั้นมากๆ ทั้งที่เด็กมีสายตาสั้นเพียงเล็กน้อย หรือบางรายเด็กมีสายตาปกติ) หากผู้วัดตาจ่ายเบอร์แว่น ตามผลจากคอมพิวเตอร์อย่างเดียว แว่นที่ตัดไปแล้ว ย่อมใส่แล้วชัดแต่มึนงงและไม่สบายตา นอกจากนี้ยังส่งผลให้สายตาสั้นขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วยคะ
ประการที่3 ความมัวจากผู้ประกอบแว่น จากการตั้งศูนย์แว่นผิดไม่สอดคล้องกับเลนส์แต่ละชนิดหรือไม่ถูกต้องกับชนิดสายตา หรือศูนย์ตาของลูกค้า ทำให้ ได้แว่นไม่ชัดเท่าที่ควรจะเป็น หรือมัวไปเลยถ้าโครงสร้างเลนส์ซับซ้อน(โปรเกรสซีฟเลนส์)
ประการสุดท้าย จากตัวแว่นเอง แว่นที่เบี้ยว หรือหน้าแว่นแอ่นเข้าหรือโค้งออก (จากการนั่งทับ) แว่นที่ขาสูงต่ำไม่เท่ากัน ขากางไปหนึ่งข้าง(จากการถอดแว่นมือโดยใช้มือข้างเดียว) ทำให้ศูนย์ของแว่นเสียไป ส่งผลต่อค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากแสงตกลงสู่จอประสาทตาผิดตำแหน่ง ผลคือผู้ใส่จะเกิดอาการมึนงง และมัว ซึ่งจะมีผลมากในผู้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆ หรือผู้ที่ใช้เลนส์แว่นตาโครงสร้างซับซ้อน(โปรเกรสซีฟเลนส์) ท่านลองนึกถึงรถยนต์ หากตั้งศูนย์ดี คนขับก็ขับรถได้สบาย รถไม่โคลงเคลง แต่ถ้าศูนย์แว่นตาไม่ดีท่านก็จะเกิดอาการเสียศูนย์ได้เพราะตามัวและมึนงงนะคะ
ปัญหาจากตัวแว่นที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน คือ แว่นเดิมที่ใส่กันมานั้น ไม่ได้ตั้งศูนย์หรือศูนย์ไม่ตรง แต่บางท่านใส่มาหลายปี จึงทำให้สมองเกิดการปรับตัว ท่านจึงรู้สึกชินและรู้สึกชัดกับแว่นตัวที่ใส่(ทั้งๆที่ใส่ตอนแรกๆ ก็ปวดศรีษะเอาเรื่องเหมือนกัน) ดังนั้นเมื่อมาตัดแว่นตัวใหม่ แม้ว่าแว่นตัวใหม่จะตั้งศูนย์ได้ถูกต้อง ท่านก็จะยังรู้สึกมึนงงและไม่สบายตาในระยะแรก มีบางท่านถึงกับใส่แว่นตัวใหม่ไม่ได้เลยก็มี (ทั้งๆค่าสายตาถูกต้อง และศูนย์แว่นก็ถูกต้อง) ซึ่งเป็นผลจากผู้ใส่คุ้นเคยกับสิ่งที่ผิดพลาดมาตลอด (เกิด Prism effect) ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องรักษาด้วยเลนส์พิเศษ (เลนส์ปริซึม) จึงจะเห็นชัด
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว เวลาไปตรวจวัดสายตาก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมหยิบแว่นตาตัวเก่า ตัวเก่งของท่านไปด้วยนะคะ เพราะจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากกับทางร้าน และ ตัวท่านเองค่ะ