ต้อกระจก
ปัญหาสายตาและโรคตาที่มักเกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ คือโรคต้อกระจก (Cataract) ซึ่งเป็นที่น่าตกใจมากเพราะเราพบว่า ต้อกระจก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียสายตาและภาวะตาบอดของประชากรทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจสภาวะตาบอด สายตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นปัญหา สาธารณสุข ในปี 2537 พบว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียสายตามากเป็นอันดับ 1 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 จากโรคตาทั้งหมด ดังนั้นการที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต้อกระจกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะสามารถช่วยป้องกันและลดโอกาสการสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ก่อนอื่นเราลองมาทำความเข้าใจ กันก่อนว่า ต้อกระจก คืออะไร ?
ภาพแสดงการเปรียบเทียบระหว่างภาพที่คนตาปกติมอง กับภาพที่คนเป็นต้อกระจกมองเห็น
ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ และไม่ได้เกิดที่กระจกตา แต่เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
ที่เกิดขึ้นจาก การขุ่นของเลนส์แก้วตา ซึ่งโดยปกติเลนส์แก้วตาจะมีลักษณะใสทำหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดีดังนั้นเมื่อเกิด
ต้อกระจกจอประสาทตา ก็จะรับแสงได้ไม่เต็มที่ เป็นเหตุทำให้สายตาพร่ามัวเหมือนมองผ่านกระจกฝ้า จึงเป็นที่มาของคำว่า “ต้อกระจก” โดยทั่วไปแล้วมักจะพบได้ในผู้สูงอายุ ทุกคน ปกติมักเริ่มพบที่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มนุษย์ทุกคนที่อายุยืนยาว
พอจะต้องเป็นต้อกระจกกันทุกคนอันเนื่อง มาจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามธรรมชาติ แต่ใครจะเป็นเร็วเป็นช้าก็มักขึ้นอยู่กับสาเหตุอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น
- มีโรคเบาหวาน
- ได้รับอุบัติเหตุมีการกระแทกตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมทะลุเข้าตา
- ได้รับรังสียูวีจากแสงแดด หรือรังสีเอ็กซ์เรย์
- สารเคมีจำพวกด่างเข้าตา
- การสูบบุหรี่
- มีการอักเสบเกิดขึ้นในลูกตา
- กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งในกรณีที่พบต้อกระจกในผู้ป่วยที่ยังเยาว์วัย อาจเกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ หรือจากการติดเชื้อและการอักเสบ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ แต่ในหลายรายก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
ลักษณะอาการของคนที่เป็นต้อกระจก
- ตามัวลงอย่างช้า ๆ ลักษณะการมัวเหมือนเมื่อมองผ่านหมอก หรือกระจกฝ้า แต่ไม่มีอาการปวดตา
- สายตาอาจสั้นมากขึ้น ต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยแม้อายุจะมากขึ้น
- สายตาอาจกลับ หรือเห็นภาพในระยะใกล้ได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนกว่าแว่นดูใกล้อันเดิมที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้
- มองเห็นสีเพี้ยน หรือจางลง
- มองเห็นดีเมื่ออยู่ในที่ร่ม แต่กลับมัวเมื่ออยู่กลางแจ้ง
- กลางคืนขับรถลำบากมาก มองเห็นแสงสะท้อนกระจัดกระจายเป็นแฉก ๆ
- รูม่านตามีสีเปลี่ยนไป
ภาพต้อกระจกในลักษณะต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างอาการคร่าว ๆ ของต้อกระจก หากพบว่าท่านมีอาการเหล่านี้แล้วก็ควรมาเข้ารับ การตรวจสุขภาพตา เพื่อยืนยันผลดูว่าท่านเป็นต้อกระจกหรือไม่
การป้องกันหรือชะลอการเกิดต้อกระจก
- หลีกเลี่ยงการซื้อยามาหยอดตาเอง โดยเฉพาะยาที่มีสารสเตียรอยด์ ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
- หลีกเลี่ยงและระมัดระวังอุบัติเหตุที่มีต่อดวงตา
- หลีกเลี่ยงแสงยูวีจากแสงแดด โดยการสวมแว่นหรือใช้ร่มที่สามารถกรองรังสียูวีได้ขณะอยู่กลางแจ้ง
- ควบคุมโรคประจำตัว
- ส่งเสริมสุขภาพกายและใจ
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้แก่ก่อนวัย
- ทานอาหารให้ครบหมู่ ผัก ผลไม้ แร่ธาตุ ที่มีประโยชน์
การรักษาต้อกระจก
- ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนกว่าสายตาของคนไข้จะขุ่นมัวจนมองเห็นไม่ชัดอาจใช้เวลานานหลายเดือน หรือหลายปีโดยทั่วไปต้อกระจก ถือว่าเป็นโรคที่รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วโอกาสที่จะกลับมามองเห็นได้ใกล้เคียงกับปกติมีสูงมากทีเดียว
- ในช่วงแรกการให้แว่นยังสามารถช่วยให้การมองเห็นยังดีอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขรักษาที่ต้นตอของโรคคนไข้จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยเป็นประจำทุกปี
- ในบางกรณีจักษุแพทย์อาจให้ยาหยอดตา เพื่อชะลอความรุนแรงของต้อกระจก แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถลดหรือหยุดต้อกระจกได้
- เมื่อสายตาขุ่นมัวจนไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต้อกระจกขุ่นมากจนบดบังการตรวจจอประสาทตาของคนไข้ในรายที่มีความจำเป็นต้องตรว จอประสาทตาเป็นประจำ หรือต้อกระจกสุกมากจนอาจมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต้อหินหรือมีการอักเสบ ของลูกตาตามมาจักษุแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ควรได้รับการผ่าตัด หรือสลายต้อกระจกและใส่เลนส์สังเคราะห์หรือเลนส์แก้วตาเทียมให้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้การมองเห็นกลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งถือว่าวิธีนี้เป็นการรักษาถึงต้นตอของโรคโดยตรง
ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกไม่ต้องดมยาสลบ ใช้เพียงหยอดยาชา หรืออาจฉีดยาชาร่วมด้วย ซึ่งคนไข้จะมีความรู้สึกเจ็บน้อยมาก โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผ่าตัดเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย วันรุ่งขึ้นจึงสามารถเปิดตาได้ ซึ่งวิธีการผ่าตัดนั้นมีหลายวิธี แต่การเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดที่นิยมใช้โดยทั่วไปมักจะมีอยู่ 2 วิธี คือ
1. การผ่าตัดแบบใช้เครื่องสลายต้อกระจก โดยจักษุแพทย์จะเปิดช่องเล็กๆที่ผนังตาขาวประมาณ 3 มม. เพื่อสอดเครื่องมือสลายต้อเข้าไปยังต้อกระจกที่สุกอยู่ แล้วจึงปล่อยคลื่นอุลตร้าซาวด์ความถี่สูงเข้าไปสลายต้อ และดูดออกมาในขณะเดียวกันจนหมด เหลือไว้แต่เปลือกหลังของเลนส์แก้วตาเพื่อเป็นถุงแล้วจึงฝังเลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ในถุงนี้ เนื่องจากแผลที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสมานตัวเองได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล คนไข้จะฟื้นตัวได้เร็ว
2. การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุก และแข็งตัวมากจนไม่เหมาะกับการสลายด้วยคลื่นอุลตร้าซาวด์ โดยจักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำ และผนังตาขาวตรงบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม. เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็น ต้อกระจกออก เหลือแต่เปลือกหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุง แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ถุงนี้ หลังจากนั้นจึงเย็บปิดแผล ซึ่งวิธีนี้การฟื้นตัวของตาคนไข้ จะนานกว่า แต่ผลการผ่าตัดนั้นไม่ต่างกับวิธีใช้เครื่องสลายต้อกระจก
ภาพวิวัฒนาการของการผ่าตัดรักษาต้อกระจก
โดยทั่วไปหลังการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว คนไข้ยังคงต้องมาเข้ารับการตรวจระดับสายตาอีก ซึ่งจะต้องรอให้สายตาเริ่มเข้าที่ก่อนส่วนใหญ่ก็อย่างน้อย 11-12 เดือน หลังจากผ่าตัดต้อกระจก เพื่อดูว่าคนไข้ยังจำเป็นต้องใช้แว่นเพื่อช่วยในการมองเห็นอยู่หรือไม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้สายตาในระยะมองใกล้เพราะ เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปส่วนใหญ่จะเป็นเลนส์ชนิดที่โฟกัสภาพได้ในระยะเดียว จึงไม่สามารถที่จะปรับกำลังสายตาเพื่อมองเห็นชัดในระยะใกล้ได้ คล้ายกับ อาการของสายตาผู้สูงอายุ (ปัจจุบันมีเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถปรับกำลังตาเพื่อมองในระยะใกล้ได้แต่การใส่เลนส์ชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดในการเลือกคนไข้ที่ เหมาะสมกับเลนส์ จึงยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร)
ภาพเลนส์แก้วตาเทียมสามารถใช้ได้ตลอดอายุของผู้ป่วย
นอกจากนั้นตาข้างที่ทำการผ่าตัดรักษาต้อกระจกแล้ว จะไม่มีการเป็นต้อกระจกซ้ำอีก แต่ถ้าหลังการผ่าตัดถ้าตาข้างนั้นกลับมามีอาการตามัวอีก อาจเกิดจาก สาเหตุอื่นๆ เช่น เปลือกหุ้มเลนส์ด้านหลังขุ่น หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือโรคต้อหินเป็นต้นซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาในลำดับต่อไป