ตาเข



เป็นคำถามที่พบบ่อยๆในคลินิกสายตา ว่าจะทราบได้อย่างไรว่าลูกตาเข หรือไม่


ตาเข หรือตาเหล่ (Strabismus or Squint) คือ ภาวะที่ตาทั้งสองข้างมองไปคนละทิศทาง ไม่ขนานกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พ่อแม่ หลายๆคนวิตกกังวล โดยตาเขนั้นอาจเห็นว่าเป็นตลอดเวลา (Tropia) หรือบางครั้งตาตรงบางครั้งตาเข ผิดปกติของกล้ามเนื้อตาอาจเป็นข้างเดียวหรือสลับข้างและอาจจะพบได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดหรือเริ่มเป็นภายหลังก็ได้



สาเหตุ



มีหลายสาเหตุค่ะ มีทั้งไม่ทราบสาเหตุ และจากความผิดปกติของสายตา ความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา หรือเกิดภายหลังได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น มีวิธีใดบ้างสามารถทดสอบตาเขได้อย่างง่าย ทำได้โดยการสังเกตดังนี้ค่ะ

1. จากการมองด้วยตาเปล่า หรือสังเกตจากรูปถ่ายของเด็ก ว่าตาทั้งสองข้างตรงหรือเขไปในทิศทางใด มีการเอียงคอหรือเอียงศีรษะอยู่เสมอหรือไม่ โดยอาจจะเปรียบเทียบรูปถ่ายในแต่ละช่วงอายุของเด็ก


(ตาเขเข้าด้านใน Esotropia)                                                          (ตาเขออกด้านนอก Exotropia)



2. ควรแยกแยะว่าตาเขที่สังเกตพบ เป็นตาเขจริงๆ หรือตาเขเทียม (Pseudostrabismus) บ่อยครั้งที่เราพบตาเขเข้าด้านในเทียมในเด็กเล็กๆ ที่ยัง ไม่มีดั้งจมูก ทำให้เห็นดั้งจมูกแบนกว้างไปปิดส่วนหัวตาทั้งสองข้าง จึงดูเหมือนกับว่ามีตาเขทั้ง ๆ ที่ความจริงตาไม่เข หรือในเด็กบางคนมีผิวหนังข้างๆ หัวตามากกว่าปกติ (Epicanthal fold) ทำให้บังตาขาวด้านหัวตาจึงดูเหมือนกับว่าตาดำชิดกัน มองเหมือนตาเขเข้า เมื่อเด็กโตขึ้น ตาจะตรงขึ้น (สังเกตจากรูป)


และเราอาจจะพบตาเขออกเทียมได้ในเด็กที่มีตาทั้ง 2 ข้างห่างกันมาก (wide papillary distant)



3. ตรวจดูว่าตาเขจริงหรือตาเขเทียมได้ด้วยวิธี Hirschberg’s Test (Corneal Light Reflex Test) โดยการให้เด็กมองที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วใช้ไฟฉาย (penlight) ส่องดูตรงๆ จะสังเกตเห็นแสงสะท้อนหลอดไฟ(light reflex) ตรงกลางรูม่านตาถ้าตำแหน่งอยู่ตรงกลางทั้งสองข้างสมมาตรกันแสดงว่าตาตรง(ตาเขเทียมจะเห็นแบบนี้ค่ะ)แต่ถ้ามีตาหนึ่งแสงสะท้อนหลอดไฟ(light reflex) เลื่อนเข้าในหรือเลื่อนออกด้านนอก แสดงว่ามีอาการตาเขจริง (สังเกตจากรูป)


(รูป A: ตาตรง B: ตาเขเข้าด้านใน C: ตาเขออกด้านนอก)



วิธีการรักษา


มีการรักษาตาเขหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุ โดยเด็กที่พบว่ามีตาเขทุกรายควรได้รับตรวจตาและตรวจสายตาโดยละเอียด รวมถึงการตรวจจอประสาทตา เพื่อหาความผิดปกติภายในลูกตา ที่อาจเป็นสาเหตุของตาเข และให้การรักษาตามความเหมาะสม ตาเขบางชนิดสามารถรักษาได้โดยการใช้แว่นสายตา แว่นปริซึม การฝึกกล้ามเนื้อตา บางชนิดรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและบางชนิดอาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน

(จากรูป : การแก้ไขตาเขเข้าในจากภาวะสายตายาว ด้วยแว่นสายตา)



หากสงสัยว่าเด็กมีปัญหาตาเข ควรปรึกษาและได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมโดยเร็ว เช่นตรวจสายตาอย่างละเอียดว่าตาเขที่พบนั้นมาจากปัญหาสายตาหรือไม่ซึ่งเราพบได้บ่อยๆว่าเด็กที่มีสายตายาวมากๆและไม่ได้รับการแก้ไขจะพบได้ว่ามีตาเขเข้าด้านในการตรวจประเมินกล้ามเนื้อในการกลอกตาการวัดมุมเข และการตรวจพิเศษอื่นๆก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้บุตรหลานของท่านได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง จากนักทัศนมาตร(Doctor of Optometrist) หรือ จักษุแพทย์นะคะ

 
 
บริษัท สมาร์ท วิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 1811,1813 ถ.จรัญสนิทวงศ์ บางพลัด กทม 10700 Tel. 0 2433 4755-6 E-mail : crm.svt@gmail.com Fb : www.facebook.com/smartvision99 Line ID :@smartvision
กรุณาเลือกหัวข้อ

แจ้งแก้ไข ซ่อมแซมแว่นตา

ตรวจสุขภาพสายตาเคลื่อนที่สำหรับบุคคลหรือหน่วยงาน

อบรมให้ความรู้เรื่องสายตา,โรคตา,การดูแลสุขภาพตานอกสถานที่

Name
:
Email
:
Telephone
:
Detail
: