ตาขี้เกียจ Amblyopia หรือ lazy eye
มีหลายครั้งที่ตรวจสายตาแล้วพบภาวะตาขี้เกียจในเด็ก ผู้ปกครองมักตั้งคำถามว่า
- ลูกผม/ลูกดิฉัน เป็นตั้งแต่เมื่อไหร่? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- ตาขี้เกียจคืออะไร? เมื่อเป็นแล้วตาจะบอดหรือไม่?
- จะมีปัญหากับการเรียนหรือไม่? ตาขี้เกียจแตกต่างจากตาปกติอย่างไร? .......... มีอีกมากคำถามค่ะ
ตาขี้เกียจ.....คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร รักษาได้หรือไม่ และ ตาขี้เกียจ แตกต่างจาก ความขี้เกียจ อย่างไร วันนี้จะเล่าให้ฟังค่ะ
ตาขี้เกียจ ( Amblyopia, Lazy Eye) ไม่เกี่ยวข้องกับความขี้เกียจหรือความขยันของเด็ก แต่คือภาวะที่ตาข้างนั้นๆมีสายตาไม่ดี เนื่องจากการพัฒนาด้าน สายตาของข้างนั้นในวัยแรกเกิดถึงประมาณ 4-5 ปี ถูกขัดขวางหรือหยุดไป เนื่องจากสาเหตุทางตาและโรคตาต่างๆ ภาวะตาขี้เกียจนั้นสามารถแก้ไขให้สายตา กลับคืนมาได้ ถ้าแก้ไขสาเหตุนั้นๆและรักษาภาวะตาขี้เกียจทันที ดังนั้นพ่อ แม่ควรคำนึงถึงสภาวะนี้เพื่อจะป้องกันและแก้ไขภาวะนี้เพื่อให้ลูกๆมองเห็นได้ดีเท่ากัน ทั้ง 2 ตาในภายหลัง ภาวะตาขี้เกียจมักจะเป็นข้างเดียว แต่อาจเกิด 2 ข้างได้เหมือนกัน ภาวะนี้พบค่อนข้างบ่อย ประมาณ 4 ใน 100 คน จึงมีข้อแนะนำว่าเด็กๆ ทุกคนควรจะได้รับการตรวจสายตาโดยกุมารแพทย์หรือจักษุแพทย์ก่อนอายุ 3 ปี การพัฒนาของสายตา ปกติทารกแรกคลอดจะสามารถเห็นได้ลางๆ และจะมีการพัฒนาของสายตาโดยอาศัยแสงเข้าไปกระตุ้นจอประสาทตาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆตามอายุ จนสามารถเห็นได้ชัดเท่ากับผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 2 ปี ดังนั้นถ้ามีอะไรไปขัดขวางการพัฒนาของสายตา เช่น เด็กเป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด แสงก็ตกไปกระตุ้นจอประสาทตาไม่ได้ ทำให้ตาข้างนั้นหยุดการพัฒนาอยู่ตรงจุดๆนั้น ทำให้ สายตาของตาข้างนั้นไม่ดีเท่าอีกข้าง ก็เกิดสภาวะตาขี้เกียจขึ้น ส่วนใหญ่ตาจะพัฒนาเต็มที่เมื่อเด็กอายุ 9 ปี และจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ถ้าอายุมากขึ้น กว่านี้ ดังนั้นตาขี้เกียจจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจพบ และรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เกิดจากพัฒนาการด้านสายตาในตาข้างนั้นๆ ถูกขัดขวาง หรือทำให้หยุดไปในช่วงที่การพัฒนาการเห็นยังไม่สิ้นสุดลง จากภาวะต่างๆดังนี้
1. โรคตาเช่น ตาเข ต้อกระจก หนังตาตก กระจกตาเป็นแผล โรคของเส้นประสาทตา และ โรคทางระบบสมองเป็นต้น ทำให้ตาข้างที่มีปัญหาไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการเห็นเนื่องจากมีการบดบังการมอง
หนังตาตก (Ptosis) กระจกตาเป็นแผล
ตาเขเข้าใน (Esotropia)
2. ภาวะสายตาผิดปกติมากๆทั้งสองตา หรือสายตาสองข้างแตกต่างกันมาก ทำให้มองเห็นภาพมัวตลอดเวลา ซึ่งระบบการมองเห็นของคนเราจะเริ่มพัฒนา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาและพัฒนามาเรื่อยๆตั้งแต่แรกคลอด จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นด้วยแสงหรือภาพเพื่อให้ระบบการเห็นภาพส่วนนี้ได้รับการพัฒนาจน สมบูรณ์ในอายุประมาณ 6 ปี
อุบัติการณ์ พบได้ประมาณ 2 - 4% ของประชากร
อาการและอาการแสดง
ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการตามัว มองไกลไม่ชัด ตาเข หรือในบางรายก็ไม่มีอาการอะไรเลยแต่พาลูกมาตรวจสุขภาพสายตาแล้ว ตรวจพบว่ามีตาขี้เกียจแถมไป 1 ข้าง
เด็กที่มีภาวะตาขี้เกียจ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข รักษาโรคทางตาและสายตา ก่อนการพัฒนาการทางการเห็นเสร็จสมบูรณ์ (6-7 ปี) กล่าวคือยิ่งเร็วยิ่งดีค่ะ จากประสบการณ์ในเด็กที่อายุ 8-14 ปี ก็ยังสามารถพัฒนาการเห็นจากภาวะตาขี้เกียจให้ดีขึ้นได้แต่ผู้ปกครองต้องเห็นความสำคัญในการพาเด็กมาทำการตรวจรักษา ตามกำหนด ในวัยผู้ใหญ่ที่การพัฒนาการเห็นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้ที่มีภาวะตาขี้เกียจร่วมกับตาเข อาจทำได้เพียงช่วยให้ตาตรงขึ้นด้วยวิธีต่างๆเท่านั้น เช่น ใช้เลนส์ปริซึมช่วยดึงกล้ามเนื้อตาหรือผ่าตัดให้ตาตรง แต่ไม่ได้ช่วยให้ภาวะตาขี้เกียจหายไปแต่อย่างใด
วิธีการรักษา
1.ทำให้เด็กเห็นภาพชัดที่สุดโดยการแก้ไขสายตาที่มีปัญหาโดยการใช้แว่น หรือคอนแทคเลนส์ในกรณีที่สายตาสองข้างแตกต่างกันมาก เพื่อกระตุ้นตาข้างที่เป็น ตาขี้เกียจให้มองเห็นได้ดีขึ้น การให้แว่นตาที่เหมาะสม จะทำให้ตาขี้เกียจดีขึ้นอย่างช้าๆโดยไม่ต้องปิดตา
2.Occlusion therapy (Patching) การปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้เฉพาะข้างที่เป็นตาขี้เกียจ
3.การรักษาภาวะตาเข เด็กบางคน การให้แว่นตาที่เหมาะสมสามารถรักษาตาเขให้ตรงได้ แต่บางรายต้องผ่าตัดเพื่อให้กล้ามเนื้อ
ตาตรง
ตาเขออกนอก (Exotropia)
หลังได้รับการแก้ไขภาวะตาเขและตาขี้เกียจ
ด้วยแว่นสายตา และการบำบัดสายตา
4. การฟื้นฟูตาขี้เกียจ โดยการบำบัดสายตา (Vision Therapy) เพื่อช่วยพัฒนาระบบการเห็น โดยใช้เครื่องมือฝึกกล้ามเนื้อตาต่างๆ เช่น Synoptophores, Cheiroscope, Tranaglyph และโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยคอมพิวเตอร์
Synoptophores Cheiroscope Tranaglyph Amblyopia iNet Program
วิธีป้องกัน
ตาขี้เกียจเป็นอาการที่สามารถป้องกันและรักษาได้ถ้าเราพบแต่เนิ่นๆ โดยพ่อแม่และผู้ปกครองสามารถสังเกตบุตรหลานของท่านตั้งแต่เล็กว่ามีพัฒนาการ ทางการมองเห็นเป็นปกติหรือไม่ โดยทดสอบได้ง่ายๆดังนี้ค่ะ
- แรกเกิด จ้องมองแสงไฟได้
- 2-3 เดือน สบตากับพ่อแม่ ยิ้มเมื่อเห็นหน้าแม่
- 3-6 เดือน เริ่มมองตามสิ่งของและสามารถหยิบ จับ คว้าได้ เช่น จับขวดนม
- 7-12 เดือน สามารถมองตามวัตถุที่ตกและก้มลงไปคว้าหรือเก็บได้
- 1-2 ปี มองภาพใหญ่ๆได้เช่นภาพสัตว์ เรียนรู้ภาพสัตว์ง่ายๆได้
- 3-6 ปี เด็กก่อนวัยเรียน ควรได้รับการคัดกรองด้านสายตา (vision screening)
อาการที่น่าสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตา ได้แก่ มองไกล/ใกล้ไม่ชัด หยีตา เอียงคอ หน้าหันไปด้านใดด้านหนึ่งเมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลตัว ดูทีวีใกล้ๆ ก้มหน้าเขียนหนังสือ กระพริบตาบ่อยๆ เดินชนสิ่งของเป็นประจำ จดการบ้านผิด เรียนไม่ทันเพื่อน บางครั้งพัฒนาการในด้านต่างๆช้ากว่าที่ควรจะเป็น หากผู้ปกครอง สังเกตเห็นภาวะโรคตา เช่นตาเข ตาแกว่ง ตาสั่น หนังตาตก ตาเปิดกว้างไม่เท่ากัน หรือเด็กมีพัฒนาการทางการมองเห็นช้ากว่าที่ควรจะเป็น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาบุตรหลานของท่านไปตรวจสุขภาพตา และตรวจสายตากับนักทัศนมาตร หรือ จักษุแพทย์นะคะการมองเห็นที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตและ การศึกษาของเด็ก พัฒนาการทางการเห็นจะเจริญเติบโตอย่างเป็นปกติได้ เด็กต้องมีตาที่เห็นได้ดีมิฉะนั้นจะทำให้การมองเห็นเสียไปอย่างถาวร ภาวะตาขี้เกียจ ถ้าพบเร็ว รักษาได้ ค่ะ
หนังสืออ้างอิง
1. Max Schapero, Amblyopia, Philadelphia, Chilton Book Company, 1971
2. Jerome Rosner, Pediatric Optometry, W
3. Alfred A. Rosenbloom, Meredith W. Morgan, Principle and Practice of Pediatric Optometry, Pennsylvania, Spectrum Publisher Services,
Inc., 1990
4. Kenneth W. Wright, Pediatric Ophthalmology for Pediatricians, Maryland, Williams & Wilkins, 1999
5. Mitchell Scheiman, Bruce Wick, Clinical Management of Binocular Vision, 3rd, Philadelphia, Lippincott Williams & Wilkins, 2008