โรคริดสีดวงตา (trachoma)
โรคริดสีดวงตา (trachoma) เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบมากในเด็กวัยก่อนเรียนที่ชอบเล่นสกปรกทั้งวัน คำว่า ริดสีดวงตา โดยทั่วไปหมายถึง อาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการแพ้ หรือจากการติดเชื้อก็ได้ทั้งสองโรคมีสาเหตุอาการ ภาวะแทรกซ้อนและการ รักษาต่างกันโรคริดสีดวงตามักจะเกิดในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน และเป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้ตาบอดสำหรับคนที่อยู่ในภูมิภาคดังกล่าว ได้แก่ แถบตะวัน ออกกลาง แอฟริกาเหนือ อินเดีย เอเชียใต้และประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยพบมากทางภาคอีสาน ในที่ๆ แห้งแล้ง กันดารมีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่ แมลงวัน ชุกชุม โรคนี้ในบ้านเราถือเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนตาบอด
สาเหตุของโรค
โรคริดสีดวงตา เกิดจากการติดเชื้อคลามีเดีย ทราโคมาติส (chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นจุลชีพที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย ติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ทำให้เชื้อจากคนที่เป็นโรคแพร่ไปเข้าตาของอีกคนหนึ่ง เชื้อโรคแพร่ไปยังผู้อื่นได้ โดยผ่านทางผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกันหรือบางครั้งเกิดจากแมลงหวี่แมลงวันที่มาตอมตานำเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง การติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันนานๆ จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกันเชื้อนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาวและกระจกตา (ตาดำ) ระยะฟักตัว 5-12 วัน คนเป็นแหล่งเก็บเชื้อ ในผู้ใหญ่ที่เป็น เยื่อบุตาอักเสบมักติดต่อกันโดยว่ายน้ำในสระร่วมกับผู้ติดเชื้อ การใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกันหรือการสัมผัสโดยตรงด้วยมือเชื้อคลามัยเดียมีคุณสมบัติคล้ายกับเชื้อริกเกต เซีย โดยเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเจริญเติบโตภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น เนื่องจากไม่สามารถสังเคราะห์สาร ATP ขึ้นเองได้ ต้องใช้จากเซลล์ที่อาศัยอยู่ เชื้อคลามัยเดียต่างจากริกเกตเซียในเรื่องของการสืบพันธุ์โดยที่มีวงจรชีวิตเฉพาะ ระยะที่อยู่นอกเซลล์จะมีรูปร่างคล้ายสปอร์ขนาดเล็ก เมื่อเข้าสู่เซลล์ที่เหมาะสมจากการถูกจับกิน จึงเปลี่ยนรูปร่างมีขนาดใหญ่ และเป็นระยะแบ่งตัวเชื้อคลามัยเดียมี 2 เชื้อสาย C. psittaci ทำให้เกิดไข้นกแก้ว (psittacosis) และ C. trachomatis ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา (trachoma) โรคท่อปัสสาวะอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองใน และกามโรคชนิด LGV โรคริดสีดวงตาเกิดจากเชื้อคลามัยเดียชนิด serovars A, B, Ba และ C ซึ่งแตกต่างกันที่การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนบริเวณผิวนอก พบว่าสายพันธุ์ที่ก่อโรคเกิดการกลายพันธุ์ทำให้หยุดยั้งการทำงานของยีนที่ควบคุมการสร้างเอ็นซัยม์ tryptophan synthase
อาการ
อาการของโรคริดสีดวงตา แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย อาจมีขี้ตา มักเป็นที่ตาทั้งสองข้าง อาการจะคล้ายกับเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้ออื่นๆ จนบางครั้งแยกกันไม่ออก ระยะนี้ถึงแม้ไม่ได้รักษาบางคนจะหายเองได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าพบว่ามีอาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม หรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อน ก็อาจให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลย ถึงแม้ไม่ได้รักษาในระยะนี้บางคนอาจหายได้เองแต่บางคนอาจเข้าสู่ระยะที่ 2
2. ระยะที่สอง เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว การอักเสบจะลดน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ลดลงกว่าระยะแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกอาการอักเสบลดน้อยลงแต่ถ้าพลิกเปลือกตาดู จะพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ออกสีเหลืองๆ ที่ด้านในของผนังตาบนนอกจากนี้จะพบว่ามีแผ่นเยื่อบางๆ ออกสีเทาๆ ที่ส่วนบนสุดของตาดำ มีเส้นเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำแผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีเส้นเลือดฝอยอยู่ด้วยนี้เรียกว่า "แพนนัส"(pannus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ แตกต่างจากโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบจากการแพ้ซึ่งอาจมีตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตา แต่จะไม่มีแพนนัสที่ตาดำ ระยะที่สองนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนๆ หรือปีๆ
3. ต่อมาจะเข้าสู่ระยะเริ่มแผลเป็น ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตาเล็กน้อยจนเกือบไม่มีอาการเลย ตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตาบนจะค่อยๆ ยุบหายไป แต่จะมี พังผืดแทนที่กลายเป็นแผลเป็น ส่วนแพนนัสที่ตาดำยังคงปรากฏให้เห็น แผลเป็นเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวเหี่ยวย่นเซลล์สร้างเมือกตายไปเป็นจำนวนมาก และถูก แทนที่โดยสารคอลลาเจนชนิด type IV และ type V collagen ระยะแผลเป็นนี้อาจกินเวลาเป็นปีๆ เช่นกัน การใช้ยารักษาในระยะนี้ไม่ค่อยได้ผล
4. ระยะของการหาย ระยะนี้โรคจะหายไปเอง แม้ไม่ได้รับการรักษาแต่จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นคือ แผลเป็นที่เปลือกตา ทำให้ขนตาเกเข้าไปตำถูก ตาดำ เกิดเป็นแผล ทำให้สายตามืดมัว และแผลเป็นอาจอุดกั้นท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลาหรืออาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงานทำให้ตาแห้ง หรือบางราย ถ้ามีเชื้อแบคทีเรีย ซ้ำเติมทำให้ตาดำเป็นแผลมากขึ้น จนในที่สุดทำให้ตาบอดได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงทุกคน บางคนเป็นแล้ว อาจหายได้เองในระยะแรกๆ ส่วนคนที่มีภาวะแทรกซ้อน มักจะมีการติดเชื้ออักเสบบ่อยๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ แบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น